วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การแต่งกายสมัยอยุธยา

การแต่งกายสมัยอยุธยา
(พ.ศ.๑๘๙๓ ถึง พ.ศ.๒๓๑๐)
กรุงศรีอยุธยา เป็นอาณาจักรของคนไทยอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอาณาจักรสุโขทัย ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ การแต่งกายของชาวอยุธยา สันนิษฐานว่า คงได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากอาณาจักรข้างเคียง เช่น ลพบุรี สุโขทัย และล้านนาปะปนกัน เนื่องจากมีเขตแดนติดต่อกัน และมีความผูกพันกันทางเครือญาติอีกด้านหนึ่งด้วย เครื่องแต่งกายในสมัยอยุธยา เครื่องแบบสำหรับข้าราชการ ขุนนาง ทหาร พระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้พระราชทานเสื้อผ้า เครื่องยศให้เป็นรายปี เรียกว่า “ผ้าหวัดรายปี” ผ้าที่พระราชทานให้ใช้สำหรับเข้าเฝ้าในงานพิธีต่าง ๆ มีทั้งที่ทำด้วยผ้าแพรและผ้ามัสลิน ลดหลั่นกันตามตำแหน่งเครื่องแบบข้าราชการในสมัยนี้ สรุปได้เป็น ๓ ยุค คือ
ยุคที่ ๑ พ.ศ.๑๘๙๓ ถึง พ.ศ.๒๑๗๑ มี ๓ แบบ คือ
๑. เสื้อคอแหลม แขนสั้นค่อนข้างมาก ผ่าอกตลอด ปลายแขนตัดเฉียง ทำให้ปลายเชิดขึ้นเล็กน้อย
๒. เสื้อทรงประพาส แบบเสื้อครุย๓. เสื้อกระโจมอก ลักษณะเป็นเสื้อคอกลม แขนสั้น ตัวยาวถึงสะโพก จับให้เป็นรอยจีบแถวหน้าอก ขุนนางผู้ใหญ่สวมศรีเภท หรือเศียรเภท (สันนิษฐานว่าเป็นลอมพอก) ขุนนางชั้นรองลงมา สวมหมวกยอดแหลมและผ้าโพก การนุ่งผ้ามีทั้งนุ่งโจงกระเบนและนุ่งกางเกง ผ้ามี ๔ สี ผ้าดำ ผ้าเขียว ผ้าชมพู และผ้าแดง ผ้าแดงใช้ตัดเครื่องแบบทหาร ใช้ในยามสงคราม และตามเสด็จประพาสป่า เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้แต่ไกล ป้องกันมิให้ทำอันตรายกันเอง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ผู้ชายไทยเริ่มตัดมุ่นมวยผม คือไว้ผมเฉพาะที่กลางกระหม่อม ต้นผมนอกไร่ต่อลงมาโดยรอบโกนเกลี้ยงดังผมพระ บางคนเรียกผมหลักแจว หรือทรงมหาดไทย





ยุคที่ ๒ พ.ศ.๒๑๗๓ ถึง พ.ศ.๒๒๗๕ เสื้อเครื่องแบบขุนนางสมัยนี้มีหลายแบบด้วยเช่น
เสื้อเครื่อง เป็นเสื้อผ้าดอกแขนยาว มีทั้งคอปิดและคอตั้ง ผ่าอกตลอด ติดดุมท่อนบน๗ - ๘ ดุม ตัวยาวถึงสะโพก ขลิบปลายแขนและรอบเอวด้วยสีต่าง ๆ เป็นเสื้อเครื่องแบบสำหรับข้าราชการ ชั้นพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น คำว่า “เครื่อง” ในพงศาวดารโยนก หมายความว่า “ทหาร” ดังนั้น “เสื้อเครื่อง” อาจหมายถึง เสื้อทหารก็ได้ เสื้อกุตไต เป็นเสื้อผ้าตาหรือผ้าดอก แขนสั้น คอกลม มีสายใหญ่ที่คอขลิบปลายแขน และรอบเอวด้วยผ้าต่างสี ตัวสั้นกว่าเสื้อเครื่อง บางครั้งก็สวมแล้วนุ่งผ้าทับ บางครั้งก็สวมทับผ้านุ่ง เสื้อเสนากุฎ เป็นเสื้อที่พิมพ์สีสลับเป็นลาย มีสีแดงเหมือนน้ำหมากมากกว่าสีอื่น ที่อกเป็นลายสิงห์ขบ ตามตัวเป็นลายต่าง ๆ กัน มีเกล็ดเกราะลายดอกไม้ ลายกนก เดิมเป็นเสื้อแขนสั้น คงจะเริ่มมีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓ ถึง พ.ศ.๒๑๔๘) เป็นเสื้อที่ใช้กันมาเป็นเวลานานมากจนถึงรัชกาล ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แขนเสื้อยาวมาถึงข้อมือเสื้อทรงประพาส เป็นเสื้อมีปก คอกว้างจนยกเป็นอินทรธนู และต่อแขนยาวจากไหล่ใต้ปกออกไป ตัวเสื้อกับแขนเป็นผ้าคนละสี แขนตัดตามลายขวางของผ้า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรมช้างซึ่งเป็นกรมใหญ่ที่สุด ใช้แต่งกับลอมพอกและแต่งกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสื้อครุย เป็นเสื้อที่ใช้กันมาเก่าแก่ตั้งแต่สร้างกรุง อาจเป็นเสื้อผ้าที่เรียกกันว่า “สนอบ” ที่กล่าวถึงในกฎมณเฑียรบาล เป็นเสื้อตัวไม่ยาวนัก แขนสั้น ผ่าอกตลอด ตกมาถึงสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ตัวเสื้อยาวขึ้น แขนกว้างขึ้นแต่เป็นแขนสามส่วน ทำด้วยผ้าขาวบางหรือผ้าโปร่ง ตกแต่งด้วยลายตามฐานะและตำแหน่ง การนุ่งผ้าได้มีแบบแผนสำหรับข้าราชการใน สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกำหนดไว้ใน “พระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้าง” มีอยู่ ๔ อย่าง คือ เกไลบัวตูม บัวบาน และบัวจีบ เครื่องประดับศีรษะของขุนนางข้าราชการในเวลามีงานพระราชพิธี และงานเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตรา ขุนนางกรมช้างใช้ลอมพอก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีสมุหกลาโหม และสมุหนายกใช้หมวกปีกใหญ่ไม่หลบปีกแต่เชิดขึ้นเล็กน้อย ทหารใช้หมวกปีกสั้นมากพอปิดตีนผม ส่วนจอมหมวกนายทหารเอกสูงสุดครอบมวยผมอย่างสูงไว้ ภายในมียอดจอมเนินเป็นบัวตูม รองรับด้วยบัวคว่ำรอบจอมเบื้องล่าง มีเกี้ยวกระจัง (เครื่องสวมจุก) นายทหารรองลงมาคล้ายกันแต่ยอดจอมแหลม หมวกพลทหารยอดจอมมน



ยุคที่ ๓ พ.ศ.๒๒๗๕ ถึง พ.ศ.๒๓๑๐ เครื่องแบบข้าราชการในยุคนี้ มีตำรากำหนดไว้ว่าจะต้องแต่งเครื่องแบบเต็มยศ ในงานพระราชพิธี ดังนี้ มหาดเล็ก ได้แก่ หัวหมื่น ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่น เป็นหัวหน้ารับผิดชอบรองลงมา ได้แก่ นายเวร จ่า จ่าหุ้มแพร ผู้ลงเรือพระที่นั่งต้องแต่งเครื่องแบบเต็มยศ นุ่งผ้าสมปักลาย ห่มเสื้อครุยใส่ลอมพอก และคาดผ้าเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ สะพายดาบตามตำแหน่ง มหาดเล็กธรรมดา นุ่งผ้าลาย ห่มเสื้อครุย ใส่พอกเกี้ยว ถ้าเสด็จไปทอดพระเนตรการมหรสพ เจ้ากรม ปลัดกรม นุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อครุย เจ้ากรมสะพายกระบี่ ปลัดกรมขัดดาบ หัวหมื่นสะพายดาบ ถือหอก ถ้างานไม่ใหญ่โตนัก ให้แต่งกายนุ่งผ้าสมปักใส่เสื้อครุย คาดดาบ ถ้าเป็นงานเสี่ยงอันตราย เช่น ทอดพระเนตรเสือในวัง จึงให้นุ่งผ้าไหมเกี้ยว ผ้าเกี้ยว ถ้าแห่ออกนอกวังให้นุ่งผ้าแกมไหม ห่มเสื้อหนาว นุ่งผ้าเกี้ยว ถ้าเสด็จออกงานทำนองสวนสนามในวัง หรืองานที่ไม่สำคัญนอกวัง เป็นงานปกติให้นุ่งสมปัก ห่มเสื้อครุย คาดดาบ งานเต็มยศให้นุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อครุยใส่พอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ เจ้ากรมสะพายกระบี่ ปลัดกรมคาดดาบ หัวหมื่นถือดาบ สะพายดาบการนุ่งผ้า ผ้านุ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ผ้าสมปัก” เพราะเป็นผ้าทางราชการ ยศก็ดีสังกัดก็ดีสังเกตได้จากผ้าสี โดยปกติไม่นุ่งกัน นอกจากเข้าเฝ้าหรือตามเสด็จพระราชดำเนิน แม้แต่นุ่งจาก บ้านจะเข้าวังก็ใช้ผ้าอื่นนุ่งมาก่อน สมปักให้ทนายถือตามมานุ่งในวัง ผ้าสมปัก เป็นผ้าไหมหน้าแคบต้องต่อให้กว้าง โดยใช้ผ้าสองผืนต่อกัน เรียกว่า “เพลาะ” เมื่อเพลาะแล้วจะกว้างประมาณ ๑๖๐ เซนติเมตร ซึ่งกว้างกว่าผ้านุ่งธรรมดา
๑/๔ ยาว ๑/๒ เวลานุ่งเต็มยศ ใช้ผ้าสมปักลายต่าง ๆ เวลานุ่งเข้าเฝ้าตามปกติ นุ่งผ้าไหมสี
ต่าง ๆ ผ้าสมปักที่มีเกียรติยศสูงสุด คือ สมปักปูม เป็นสมปักที่ทอด้วยไหมมีลายดอกเป็น
ตา ๆ สมปักที่ต่ำสุด คือสมปักริ้ว ในยามปกติไม่มีการงานสำคัญ ขุนนาง ข้าราชการ ก็คงนุ่งผ้าผืนห่มผืนเหมือนชาวบ้านทั่วไป แม้ในยามเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวตามปกติประจำวันที่ไม่มีงานพระราชพิธี หรือรับแขกเมืองขุนนาง ข้าราชการก็คงแต่งกายตามอัธยาศัย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อบ้างไม่สวมเสื้อบ้างเนื่องจากอากาศร้อน





การแต่งกายสมัยอยุธยา (พ.ศ.๑๘๙๓ ถึง พ.ศ.๒๓๑๐) ได้หลักฐานจากภาพจิตร-กรรมฝาผนังและไม้แกะสลัก เป็นต้น จัดแสดงไว้ ๒ หุ่น




หุ่นทหารชาย ไว้ผมทรงหลักแจว หรือทรงมหาดไทย เสื้อคอกลม มีแถบที่แขน(บอกยศตำแหน่ง) นุ่งกางเกงสามส่วนมีแถบ มีผ้าคาดเอว มีดาบเป็นอาวุธ ไม่สวมรองเท้า




หุ่นทหารหญิง หรือนักรบให้ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ด้านหลังปล่อยยาวคาดผ้าตะเบงมาน นุ่งผ้าโจงกระเบน อาวุธดาบสองมือ ไม่สวมรองเท้า

ไม่มีความคิดเห็น: